ปี 2566 ความต้องการบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวัน เนื่องจากธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่กระดาษบรรจุภัณฑ์ยังคงได้รับปัจจัยกดดันด้านราคาขายในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุปสงค์กระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศจีนที่เติบโตช้า สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศจีนที่ชะลอตัวลง
สำหรับเศรษฐกิจโลกได้เผชิญกับความท้าทายจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงจากสภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าจากภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และรองเท้า อย่างไรก็ตาม SCGP รับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทายและโอกาสทางธุรกิจด้วยกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตามแผนการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร (Merger & Partnership) และการขยายกำลังการผลิต (Organic Expansion) ในผลิตภัณฑ์ที่ตลาดเติบโตสูง เช่น บรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์และบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก หรือช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน
การขยายธุรกิจของ SCGP ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร (Merger & Partnership) ส่งเสริมความเป็นผู้นำโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ด้วยการเข้าถือหุ้นใน Law Print & Packaging Management Limited ผู้ให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ในสหราชอาณาจักร มุ่งเน้นตลาดบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสัตว์เลี้ยงซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว และการเข้าถือหุ้นใน Bicappa Lab S.r.L. ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตปิเปตต์ทิป (Pipette Tips) ในประเทศอิตาลี รวมถึงการเข้าถือหุ้นใน Starprint Vietnam Joint Stock Company ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษแข็งแบบพับได้ (Offset Folding Carton) ในประเทศเวียดนาม รองรับฐานลูกค้าในตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค ทั้งในเวียดนามและภูมิภาคอาเซียน
โครงการขยายกำลังการผลิต (Organic Expansion) ที่มีนัยสำคัญของ SCGP ในปี 2566 ในประเทศ ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) เพื่อรองรับลูกค้าในกลุ่มอาหารสัตว์และกลุ่มอาหารเสริมเพื่อสุขภาพซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก โดยเพิ่มเทคโนโลยีการผลิตและการพิมพ์ที่ทันสมัยในกระบวนการผลิต เพื่อเติมเต็มความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าและผู้บริโภค สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตในต่างประเทศ ได้แก่ การขยายและย้ายโรงงานรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ของ Peute Recycling B.V. (Peute) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไปตั้งอยู่ติดกับท่าเรือรอตเตอร์ดัม ทำให้ความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล (Recovered Paper: RCP) เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งด้วย
ด้านการยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานของทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Integration) และการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence) SCGP ได้นำระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและผลิตผล และการใช้ Data Analytics เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านข้อมูลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (End-to-End) เช่น ระบบการติดต่อ การสั่งซื้อ การส่งมอบสินค้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์และตอบข้อมูลได้รวดเร็ว ทำให้ลูกค้าสะดวกขึ้น สามารถบริหารจัดการวัตถุดิบและสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) รวมถึงการนำเทคโนโลยี Machine Learning เข้ามาปรับใช้และประมวลผลข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำ Generative AI มาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพการพิมพ์ (AI Printing Inspection System) การพัฒนา AI Printing Inspection System สามารถลดปริมาณของเสียที่ไม่จำเป็น และลดเวลาการตรวจสอบด้วยตามนุษย์ การพัฒนาเทคโนโลยีมาปรับปรุงการใช้เชื้อเพลิงและส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวล เพื่อส่งเสริมการนำของเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเป็นพลังงานทดแทน และนำทรัพยากรภายในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ โดยการดำเนินงานล้วนมาจากพนักงาน SCGP ทุกคน ที่ร่วมทำงานด้วยความใส่ใจในการส่งต่อคุณค่าไปยังลูกค้าและผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ SCGP ได้มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและผู้บริโภค เช่น ความร่วมมือกับ Origin Materials สหรัฐอเมริกา พัฒนานวัตกรรม “Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ” เพื่อรองรับความต้องการวัสดุหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก การพัฒนาช้อนส้อมและถาดอาหารที่ทำจากไม้ยูคาลิปตัส รองรับกระแสการใช้ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่ยั่งยืน รวมถึงตอบสนองความต้องการบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้
SCGP ยังคงดำเนินธุรกิจตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ในปี 2566 SCGP มีการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Target initiative : SBTi) เพื่อเป็นการยกระดับกลยุทธ์มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 ควบคู่กับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 SCGP ได้ผ่านเกณฑ์การประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ “Dow Jones Sustainability Index” (DJSI) จาก S&P Global ในกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ (Containers & Packaging Industry) ซึ่งจากการประกาศคะแนน ณ 8 ธันวาคม 2566 SCGP ได้รับคะแนนรวม 85 คะแนน คิดเป็น Top 1% ของกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ (Containers & Packaging Industry) รวมถึงได้รับการประเมินความยั่งยืนโดย SET ESG Rating ด้วยคะแนนในกลุ่ม AAA พร้อมทั้งได้รับรางวัล SET Awards จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรางวัล Best Innovative Company Awards และรางวัล Best Sustainability Awards เป็นปีที่สองติดต่อกัน นอกจากนี้ยังได้รับ 3 รางวัลคุณภาพ IAA Awards for Listed Companies 2022 จากสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ได้แก่ รางวัล Outstanding CEO รางวัล Outstanding CFO และรางวัล Outstanding Investor Relations ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม จากการโหวตของนักวิเคราะห์และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน
ด้วยความมุ่งมั่นสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ทำให้ในปี 2566 SCGP มีรายได้จากการขายรวม 129,398 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 จากปีก่อน กำไรสำหรับปีเท่ากับ 5,248 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 จากปีก่อน คณะกรรมการบริษัทจึงมีมติเสนอให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 อนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,361 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการจ่ายเงินปันผล โดยแบ่งเป็นเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท และเงินปันผลประจำปีส่วนที่เหลือในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท
ในปี 2567 SCGP มีเป้าหมายที่จะมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยกลยุทธ์การขยายธุรกิจผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร (Merger & Partnership) และการขยายกำลังการผลิต (Organic Expansion) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคในตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงทั้งในอาเซียนและนอกภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและการแพทย์ โดยเน้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์จากการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนาที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ การเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบในระยะยาว การเสริมความแข็งแกร่งด้านความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่สอดรับกับการเติบโตของธุรกิจ ควบคู่ไปกับเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจตามกรอบแนวคิด ESG
ในโอกาสนี้ คณะกรรมการบริษัทขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ร่วมทุน คู่ค้า คู่ธุรกิจ ลูกค้า พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตลอดทั้งสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้ให้ความไว้วางใจ และสนับสนุนการดำเนินงานด้วยดีตลอดมา และขอให้เชื่อมั่นว่า SCGP จะดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำในระดับสากลที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ควบคู่กับการสร้างสรรค์คุณค่าให้แก่สังคมและโลกที่น่าอยู่ไปพร้อมกัน บนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล /
ประธานกรรมการ
นายวิชาญ จิตร์ภักดี /
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร